เพราะแต่ละคนมีความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน


เพราะแต่ละคนมีความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน infoAid จึงให้ความสำคัญกับการระดมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับคนแต่ละกลุ่มที่ไม่ใช่เพียงชุดยังชีพแบบมาตรฐาน เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายและให้เกิดประโยชน์สูงสุด 🙂

กลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม คือใคร

 

กลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม หมายถึงคน หรือ กลุ่มคนที่ในสภาวะปกติไม่ได้รับโอกาสในการดำเนินชีวิตในสังคมเทียบเท่ามาตรฐาน โดยทั่วไปมักหมายถึง เด็กและเยาวชน สตรี คนชรา ผู้พิการ ผู้อพยพ และ คนไร้บ้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบททางสัมคมของแต่ละสังคมด้วย โดยคนเหล่านี้ มักจะขาดการเข้าถึงข้อมูลหรือเข้าถึงเทคโนโลยี มีข้อจำกัดทางด้านสภาพเศรษฐกิจ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม มีข้อจำกัดในด้านการรับบริการทางด้านสุขภาพหรือข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ ส่งผลให้ไม่มีความสามารถที่จะปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต่างๆ อาทิ ภัยธรรมชาติ โรคระบาดร้ายแรง และมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้มากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้[1]

สำหรับ InfoAid จากการรวบรวมข้อมูลจากเครือข่ายที่ทำงานกับกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคมกว่า 34 องค์กร เราจึงแบ่งกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคมออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่  เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีในบริบทที่มีความเสี่ยงและข้อจำกัดทางสังคมสูง สตรีมีครรภ์ ผู้พิการ คนไร้บ้าน พนักงานบริการ และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีข้อจำกัด และมีความต้องการที่แตกต่างกัน InfoAid จึงเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูล และให้ความสำคัญกับการระดมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับคนแต่ละกลุ่มเพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ชุดยังชีพแบบมาตรฐานซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับคนบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่มีหม้อหุงข้าว อาจจะต้องการอาหารสำเร็จรูปเช่น นมกล่อง ปลากระป๋อง ในขณะที่สถานพยาบาล บ้านพักคนชรา อาจจะต้องการข้าวสารเพื่อเลี้ยงคนจำนวนมาก หรือ ครอบครัวเปราะบางที่มีเด็กอ่อน ก็จะต้องการนมผงหรืออาหารเด็กอ่อน ซึ่งต่างไปจากกลุ่มแรงงานหรือพนักงานรายวันที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เป็นต้น

 

ทำไมจึงต้องมีการเก็บข้อมูลและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

 

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า กลุ่มเปราะบาง ถูกแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มตามบริบทของสังคม และสภาวะการที่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อมูลที่เพียงพอ และความเข้าใจในประเด็นนี้ จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ให้มีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆได้ดียิ่งขึ้น จัดลำดับความช่วยเหลือได้ตามความจำเป็น และสามารถดึงกลุ่มคนเหล่านี้ มามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การฟื้นฟู การเตรียมตัวรับมือและการลดความความเสี่ยงในอนาคตได้

ทั้งนี้ InfoAid จึงหวังว่าเว็บไซต์ และ Facebook ของ InfoAid จะถือเป็นจุดเริ่มต้นการวางแผนเพื่อจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และรวมรวมข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยอาศัยความร่วมมือต่างๆ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต่อไป

 

 

[1] COVID-19_CommunityEngagement

Related Posts

WEEKLY NEWSLETTER 29/06/63
โรงพยาบาลกลุ่มเปราะบางความต้องการ 30 มิถุนายน 2020
WEEKLY NEWSLETTER 22/06/63
โรงพยาบาลกลุ่มเปราะบางความต้องการ 22 มิถุนายน 2020
WEEKLY NEWSLETTER 15/06/63
ของใช้ส่วนตัวโรงพยาบาลกลุ่มเปราะบางความต้องการ 16 มิถุนายน 2020